รุ้ง หรือ รุ้งกินน้ำ คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก โดยเกิดขึ้นจากแสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศ ทำให้แสงสีต่าง ๆ เกิดการหักเหขึ้น จึงเห็นเป็นแถบสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า แต่หลาคนอาจไม่เคยทราบว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบะความเชื่อของคนอีกหลายๆเชื้อชาติ เช่น

      คนจีน - มีความเชื่อว่ารุ้งกินน้ำเกิดขึ้นทางตะวันออกไม่มีใครกล้าชี้ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดโชคร้าย และมักจะทำให้เป็นแผลที่มือที่ชี้นั้น ชาวจีนยัง เชื่ออีกว่า ถ้าเมื่อใดเกิดมีรุ้งกินน้ำ เมื่อนั้นฝนจะหยุดตก จนมีคำกล่าวที่ว่า “เหมือนมองหาเมฆเพื่อให้ได้ฝน แต่พอเห็นเมฆมาแล้วก็ไม่สบายใจกลัวรุ้งกินน้ำจะตามมาด้วย แล้วฝนก็จะเหือดหายไปเสีย”

      ลัทธิบอน (Bon) ของทิเบต - มีความเชื่อว่าชาวทิเบตคนแรกลงมาจากท้องฟ้าสู่ขุนเขาสูงด้วยบันไดวิเศษของรุ้งกินน้ำ ครั้นเมื่อได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนา ชาวทิเบตก็ยังเชื่อว่า เมื่อผู้บรรลุมรรคผลได้สิ้นชีวิตลง สังขารก็จะสลายกลายเป็นแสงงดงามของรุ้งกินน้ำ “ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”

      ชาวกัมพูชา หรือเขมร - เรียกรุ้งกินน้ำในความหมายว่า ธนูพระอินทร์ เพราะมีรัศมีโค้งข้ามฟ้าเหมือนคันธนูที่โก่งจนเต็มที่ 


      ไทยและไทใหญ่ -
เชื่อตรงกันว่า ถ้าเอามือชี้รุ้งกินน้ำแล้วนิ้วจะด้วน ต้องแก้เคล็ดด้วยการเอามือเช็ดก้น

      ชาวมอญ - เชื่อว่าถ้าชี้รุ้งกินน้ำแล้วจะโชคร้าย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะโชคร้ายอย่างไร

      นอกจากนั้นสีของรุ้งยังมีความสำคัญในเรื่องเล่าเช่นกัน บางคนเชื่อว่าถ้าสีใดในรุ้งโดดเด่น หรือสังเกตเห็นเด่นชัด จะมีความหมายต่างๆ เช่น แสงสีแดงหมายถึงสงคราม สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และสีเหลืองหมายถึงความตาย

      สรุปเนื้อหาจาก : วารสารสื่อพลัง : ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 คอลัมน์ คอลัมน์ Universe and the Unthinkable

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น